Home         Book Reviews         Business Trips        Technical Visits        About Me
Wut Sookcharoen
Book Reviews by วุฒิ สุขเจริญ
 
วุฒิ สุขเจริญ Title: His Life and Management Philosophy
Author: Konosuke Matsushita
My Rating: วุฒิ สุขเจริญ
 
 

Summary
              หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 1 ในชุดของ The Art and Wisdom of Management ของ Konosuke Matsushita ซึ่งผมคงต้องขอเกริ่นนำนิดนึง Konosuke Matsushita เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Panasonic (เดิมชื่อ National) เป็นหนึ่งในผู้บริหารธุรกิจของญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับไม่ใช่เฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก โดยส่วนตัวแล้วผมชอบปรัชญาการบริหารของ Konosuke Matsushita มาก ๆ ครั้งหนึ่งก็เคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของ Konosuke Matsushita ที่ Osaka และยังประทับใจไม่รู้ลืม (ใครไปเที่ยว Osaka ก็แวะไปที่พิพิธภัณฑ์นี้ได้ ลองหารายละเอียดดูใน google ก่อนก็ได้) มาพูดถึงหนังสือเล่มนี้กันบ้าง หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนแรกพูดถึงปรัชญาการบริหารของ Matsushita ซึ่งแบ่งเป็นหัวข้อย่อย 20 หัวข้อ (แต่ละหัวข้อมีเพียง 3-4 หน้า) ส่วนตอนที่สองเล่าถึงชีวิตของ Matsushita ผมขอเล่าโดยสรุปนะครับ

Part One: Management Philosophy
1. My Management Philosophy: เค้าบอกว่าปรัชญาการบริหารของเขาเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1932 แล้วจนถึงปัจจุบันปรัชญานั้นก็ยังไม่เคยเปลี่ยนแปลง การบริหารธุรกิจควรมีปรัชญาที่สร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับชีวิต สังคม และโลก ซึ่งผู้จัดการก็จำเป็นต้องพัฒนาแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน

2. Management and the Law of Nature: กฎของธรรมชาติชีวิตต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่พัฒนาให้ดีขึ้นก็จะมาทดแทนสิ่งเดิม ผู้จัดการและการบริหารธุรกิจก็เช่นเดียวกัน ต้องมีการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง คือ Birth, Growth and Development

3. The Social Mission of an Enterprise: Matsushita เชื่อว่าหน้าที่แรก (Primary duty or mission) ของธุรกิจคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนเราให้ดีขึ้น ถ้าจะถามว่าทำไม่จึงจำเป็นต้องมีธุรกิจนี้ คำตอบก็คือ ธุรกิจจำเป็นต้องมีอยู่เพราะมันเป็นประโยชน์กับคนและปรับปรุงคุณภาพของสังคม ในขณะที่กำไรเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจแต่กำไรก็ไม่เป็นเพียงด้านเดียวของธุรกิจเท่านั้น ธุรกิจยังคงมีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคนและสังคม

4. The Human Face of Management: การบริหารเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแท้จริงแล้วก็คือคน ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้ขายรายย่อย ดังนั้น การบริหารจัดการก็คือองค์รวมของกิจกรรมต่าง ๆ ของคนเพื่อมีเป้าหมายจะพัฒนามนุษย์และสังคมนั่นเอง

5. Common Sense in Business: การบริหารธุรกิจอยู่บนพื้นฐานของกฎธรรมชาติ เช่น หากขายสินค้าที่เกินราคาหรือเอาเปรียบผู้ซื้อก็จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎของธรรมชาติ ซึ่งหากผู้บริหารกระทำหรือตัดสินใจอยู่บนกฎของธรรมชาติ ธุรกิจก็จะสามารถเติบโตและพัฒนาต่อไปได้

6. Profit and Social Responsibility: กำไรคือรางวัลที่สังคมมอบให้ธุรกิจในฐานะที่ประสบความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการของสังคม (กล่าวได้ดีมาก) ความรับผิดชอบของธุรกิจคือการสร้างกำไรและปันส่วนของกำไรเพื่อคืนแก่สังคม

7. Prospering Together: ธุรกิจเกี่ยวข้องกับผู้คนมากมาย ทั้งพนักงาน ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ผู้ถือหุ้น ... และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับสังคมรอบข้างด้วย ซึ่งธุรกิจได้ใช้ประโยชน์สังคมรอบข้าง เช่น พนักงาน ถนน ระบบสาธารณูปโภค ดังนั้นธุรกิจจึงต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

8. Listen to the Public: การฟังเสียงของลูกค้าและสาธารณะเป็นสิ่งที่สำคัญต่อธุรกิจ ธุรกิจจึงไม่ควรสื่อสารแบบสร้างความเข้าใจผิด (เช่นการโฆษณาที่สร้างให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน) จึงเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ ดังที่ Abraham Lincoln ได้กล่าวไว้ว่า คุณอาจหลอกลวงทุกคนได้ในช่วงเวลาหนึ่ง และอาจหลวงบางคนได้ตลอดเวลา แต่คุณไม่สามารถหลอกลวงทุกคนได้ตลอดเวลา

9.Believe You Will Succeed: ถึงแม้การบริหารธุรกิจที่ดีจะเป็นการบริหารโดยเป็นอิสระต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกจะเป็นอย่างไร ธุรกิจก็ยังประสบความสำเร็จได้ แม้แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยบางธุรกิจก็ยังสามารถประสบความสำเร็จได้ เมื่อประสบความสำเร็จเราจะขอบคุณเทพีแห่งโชค แต่เมื่อธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จเราต้องโทษตัวเราเอง บางครั้งช่วงเวลาที่ไม่ดี ก็ทำให้เรามีโอกาสในการคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ได้ “ช่วงเวลาที่ดีเป็นสิ่งที่ดี แต่ช่วงเวลาที่แย่เป็นสิ่งที่ดีกว่า”

10. Aim for Self Reliance: คำว่า Self-reliance ผมขอแปลว่าการพึ่งตนเองดูจะเข้ากับเนื้อหามากกว่า ซึ่งในเนื้อหาพยายามอธิบายว่า การที่ธุรกิจยึดถือการพึ่งตัวเองเป็นหลักบางครั้งก็อาจต้องมีการผ่อนปรนบ้าง เช่น ตอนที่บางช่วงเวลาธุรกิจอาจจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากภายนอก หรือในบางช่วงที่บริษัทประสบปัญหาแล้วมีโอกาสเข้ามา ถ้าเราใช้เฉพาะสิ่งที่เรามีก็อาจจะไม่สามารถจับโอกาสนั้นได้

11. Plan for Emergencies: Matsushita เปรียบการบริหารธุรกิจเหมือนการบริหารเขื่อน (Dam Management) คือไม่ว่าจะเป็นฤดูอะไรก็ต้องมีการบริหารให้มีน้ำใช้ได้ตลอด ซึ่งน้ำไม่ได้หมายถึงเงินเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงทรัพยากรต่าง ๆ เช่น สินค้าคงคลัง อุปกรณ์ เครื่องจักร เป็นต้น

12. Know Your Limitations: การบริหารธุรกิจก็เหมือนความเป็นมนุษย์ซึ่งมีขีดจำกัด เราต้องเข้าใจศักยภาพขององค์กร ผู้บริหาร และพนักงาน เพื่อจะได้ตั้งเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม

13. To Diversify or to Specialize: การมีความหลากหลายกับการเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างก็มีข้อดี-ข้อด้อย Matsushita ให้ทัศนะประมาณว่า ในความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ยังต้องมีความหลากหลาย เช่น การขยายรูปแบบการใช้งานความเชี่ยวชาญ และในความหลากหลายก็ยังคงต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

14. Developing Employees’ Potential: คนญี่ปุ่นมักพูดว่า องค์ก็คือคนในองค์กร ธุรกิจต้องผลิตคนเป็นอันดับแรก

15. Consult Other People: ธุรกิจไม่เพียงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของพนักงานแต่ยังต้องแสวงหาปัญญาจากภายนอกด้วย (seeks the wisdom of others)

16. Harmony in Opposition: หัวข้อนี้พูดถึงสหภาพแรงงานซึ่งมักจะมีความคิดเห็นขัดแย้งกับบริษัท Matsushita ยังคงใช้หลักการของธรรมชาติที่อยู่อย่างสมดุลระหว่างสิ่งที่ตรงข้ามกัน เช่น การมีขั้วบวกขั้วลบ ดวงจันทร์กับดวงอาทิตย์ ในธุรกิจการมีสิ่งที่ตรงกันข้ามจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้

17. Be Politically Aware: การเมืองเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจจึงจำเป็นต้องให้ความสนใจกับมิติของการเมืองด้วย

18. Keep Pace with Change: ธุรกิจต้องไม่ติดยึดกับความสำเร็จหรือแนวทางปฏิบัติ ในสถานการณ์ที่วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป บริษัทจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

19. Be Constantly Creative: ธุรกิจกับศิลปินวาดรูปมีสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ก่อนวาดรูปลงสีศิลปินต้องร่างโครงร่างก่อน การบริหารก่อนลงมือทำ ต้องมีการสร้างกรอบ มีการทำแผน ก่อนที่จะใช้ทักษะของผู้จัดการในการปฏิบัติ เหมือนศิลปินที่ลงสี

20. Look at Things as They are: Matsushita ได้พูดถึง Sunao mind คือผู้บริหารต้องมีมีจิตรใจที่เป็นกลางหรือเป็นอิสระ ไม่มีข้อสรุปล่วงหน้า มองอย่างที่เป็น

Part Two: Konosuke Matsushita His Life and Legacy ส่วนนี้เล่าถึงประวัติและการทำงานของ Matsushita เป็นส่วนใหญ่ผมขอข้ามการสรุปเนื้อหาในส่วนนี้นะครับ
 
My Opinion
       ก็ลำบากใจเหมือนกันที่ต้องให้คะแนนหนังสือของฮีโร่ของผม ก็ย้ำกันแล้วย้ำกันอีกว่าเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว เป็นความชอบส่วนตัว ผมว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ Matsushita ได้แสดงมุมมองที่สร้างแรงบันดาลใจและแนวทางการบริหารธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ ถึงแม้ผู้อ่านจะไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างหนังสือ How-to ทั่วไป แต่มุมมองในบ้างเรื่องนับได้ว่าเป็นมุมมองที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจที่ดี สรุปว่าผมให้ 4 ดาว ล่ะกันครับ
 
 
  
 
"His Life and Management Philosophy" reviewed by วุฒิ สุขเจริญ Contact Me:  bestofsiam@hotmail.com